วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ

     ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ 
     ทุกวันนี้หลายแห่งทั่วโลกประสบปัญหาจากปรากฎการณ์ธรรมชาตินานารูปแบบ สาเหตุอาจจะมาจากฝีมือมนุษย์ที่ทำร้ายธรรมชาติเรื่อยมาหรือเกิดจากธรรมชาติเองโดยตรง มีทั้งที่เป็นอันตรายและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
     ปรากฎการณ์ธรรมชาติ ที่เรียกว่า ปรากฎการณ์ขี้ปลาวาฬ หรือ ปรากฎการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีนั้น เป็นหนึ่งในปรากฎการณ์ธรรมชาติก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ปรากฎการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในทะเลทั่วโลก ไม่เลือกเวลาและสถานที่ ปัจจุบันพบว่า มีการเกิดขึ้นทุกๆปี บ่อยครั้งขึ้นและมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทยนั้น ส่วนมากพบบริเวณอ่าวไทยตอนใน จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ชายหาดบางแสน อ่าวอุดม อ่างศิลา ไปจนถึงอำเภอศรีราชา ระยะเวลาที่เกิดประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูฝน มีฝนตกติดต่อกันหลายวัน มีเมฆครึ้มในเวลากลางวันและมีคลื่นลมแรง
     สาเหตุและกลไกของปรากฎการณ์ขี้ปลาวาฬนั้น ยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน แต่สาเหตุที่พบในบริเวณแถบชายฝั่งทะเลตะวันออก จังหวัดชลบุรีนั้น นักวิทยาศาสตร์วิจัยพบว่า เกิดจากการเจริญเติบโตและการเพิ่มปริมาณของแพลงตอนพืช(สาหร่ายขนาดเล็ก) อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีปริมาณธาตุอาหารสูงและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม แพลงตอนพืชส่งผลให้น้ำทะเลเปลี่ยนสี ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละแห่งทั่วโลก เช่น สาหร่ายพวกไดโนแฟลกเจลเลต เป็นสาเหตุของน้ำเปลี่ยนสีที่สำคัญของประเทศจีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว เป็นสาเหตุของทะเลเปลี่ยนสีในทะเลบอลติก สำหรับประเทศไทยสาหร่ายที่เป็นสาเหตุสำคัญในการเปลี่ยนสีของน้ำทะเล ได้แก่ สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวในสกุลไตรโคเดสเมียม และไดโนแฟลกเจลเลตในสกุลนอติลูกา ซึ่งแพลงตอนพืชจำพวกนี้จะมีสีในตัวเอง เมื่อเกิดการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก จึงก่อให้น้ำทะเลบริเวณนั้นๆเปลี่ยนสีไปตามสีของแพลงตอนชนิดนั้นนั่นเอง เช่น สีน้ำตาล เหลือ ขาว น้ำตาลแดง หรือสีสนิมเหล็ก และเมื่อแพลงตอนพืชเหล่านี้ตายลงจะถูกคลื่นพัดพาเข้าฝั่ง และเกิดการเน่าเสีย น้ำทะเลจะมีลักษณะเป็นเมือกเหนียว มีกลิ่นคาวจัด ออกซิเจนลดลง แอมโมเนียสูงขึ้นเนื่องจากการใช้ออกซิเจนและการสลายตัวของแพลงตอน






      ผลกระทบที่เกิดจากปรากฎการณ์ขี้ปลาวาฬ ก่อให้เกิดความเสียหายหลายด้าน ดังนี้
  1. เกิดผลกระทบต่อจิตใจและความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว เพราะ
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากการปล่อยน้ำเสียลงทะเล โดยเฉพาะสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และที่สำคัญประชาชนไม่สามารถตรวจสอบปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง
  2. มีผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง และสัตว์น้ำหลายชนิดตายเป็นจำนวนมาก
  3. ชายหาดมีความสกปรก มีกลิ่นเหม็น เกิดมลพิษทางอากาศ ทำให้ระบบหายใจของประชาชนที่อาศัย
บริเวณนั้นมีปัญหา รวมทั้งทัศนียภาพไม่น่ารื่นรมย์
  4. มีผลกระทบต่อการประมงชายฝั่ง เช่น การทำโป๊ะ อวนลาก อวนติดตา เกิดปัญหาจับสัตว์น้ำได้น้อยลงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น ฟาร์มเลี้ยงลูกกุ้งกุลาดำ ซึ่งจะเกิดการขาดทุนเนื่องจากต้องซื้อน้ำจากบริเวณอื่นมาใช้ รวมทั้งการเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  5. ประชาชนขาดความมั่นใจในการบริโภคสัตว์ทะเลในระยะดังกล่าว
  6. ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากน้ำทะเลสกปรก มีกลิ่นเหม็น จึงทำให้นักท่องเที่ยวลดลง

     ผลกระทบต่างๆข้างต้น เป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า หากเกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬหรือน้ำทะเลเปลี่ยนสีขึ้นนั้น จะนำมาซึ่งความเสียหายหลายด้าน มีผลกระทบทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจหรือสิ่งแวดล้อม หากในอนาคตมีวิธีการแก้ไขหรือเตือนภัยทันท่วงที ก็จะลดความเสียหายในด้านต่างๆลงได้ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น